“ยิ่งสูงวัย ยิ่งต้องรอบคอบและหนักแน่น”

วันนั้นคุณลุงวัยสูงอายุหิวจัดบึ่งมอเตอร์ไซด์ไปซื้อข้าวมันไก่เจ้าอร่อยมากล่องหนึ่ง พอถึงบ้านเปิดฝากล่องข้าวมันไก่ออกมาจะลิ้มรสของความอร่อย เมื่อเปิดฝากล่องโฟมที่ใส่ข้าวมันไก่ แกถึงกับตะลึงในกล่องมีแต่ข้าวมันแต่ไม่มีเนื้อไก่สักชิ้นเดียว ความโมโหหิวก็รีบปิดฝากล่องโดยไม่รีรอ คว้ากล่องข้าวมันไก่บึ่งไปที่ร้านขายข้าวมันไก่ทันที พอไปถึงวางกล่องลงต่อหน้าอาเฮียคนขาย ต่อว่าเสียงดังว่าขายข้าวมันไก่ยังไงเนื้อไก่ไม่มีสักชิ้นจะให้กินข้าวเปล่าๆ หรือยังไง หรือว่าตอนนี้ขายเฉพาะข้าวมันอย่างเดียวเนื้อไก่ไม่ขาย ฝ่ายอาเฮียคนขายก็ไม่โต้ตอบได้แต่ยิ้ม แล้วก็พูดด้วยน้ำเสียงปกติว่า “คุณลุงอย่าเพิ่งโกรธสิครับ ผมทำทุกอย่างถูกต้อง ไอ้ที่คุณลุงว่าผมให้ไปแต่ข้าวเปล่าๆ นั้นไม่จริงเลย คุณลุงเปิดฝากล่องผิดด้านต่างหาก เมื่อคุณลุงเปิดฝากล่องด่านล่างมันก็จะเห็นแต่ข้าว ต้องเปิดฝาด้านหน้าดูสิครับ” คุณลุงนิ่งอึ้งแล้วก็ยกกล่องโฟมข้าวมันไก่ที่แกวางลงกลับด้านอยู่นั้น ผลิกกลับเอาด้านหน้าขึ้นแล้วก็เปิดฝา เนื้อไก่นุ่มๆ วางอยู่บนข้าวให้เห็นตามปกติ จริงอย่างที่อาเฮียข้าวมันไก่บอก

            หลายครั้งความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้  ก็เพราะเราขาดความรอบคอบไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม จะสำคัญหรือไม่สำคัญจะเล็กหรือใหญ่ยังไงก็ต้องมีความรอบคอบเข้าไว้ เพราะความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่รอบคอบทำเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องให้เป็นเรื่องเสมอ อย่างเรื่องของคุณลุงคนนี้ เพราะความหิวก็เลยทำให้เกิดการผิดพลาดที่ไม่น่าจะผิดพลาด แล้วก็โยนความผิดพลาดไปให้คนอื่น ถ้าคุณลุงแกจะอดใจให้ท้องรออีกนิดเดียว แกก็จะรู้เองว่าแกวางกล่องข้าวมันไก่ผิดด้าน และถ้าหนักแน่นอีกนิดแกก็จะไม่เป็นตัวตลกให้อาเฮียหัวเราะในความไม่รอบคอบของแก เพราะผู้ใหญ่วัยขนาดนี้น่าจะรู้ว่าด้านไหนเป็นด้านบนด้านล่าง สงสัยว่าพอคุณลุงกลับอาเฮียคนขายข้าวมันไก่คงจะหัวเราะท้องคัดท้องแข็งไปอีกหลายวัน ใครรู้ใครได้ฟังคงจะนำไปเป็นเรื่องเล่าในวงสนทนากันอย่างสนุกปาก

            ต้องรอบคอบและต้องหนักแน่นในทุกเรื่อง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ สมมุติว่าคนขายเขาเอาข้าวเปล่าๆ ใส่กล่องให้ก็ต้องหนักแน่นระงับอารมณ์โกรธและหงุดหงิดไว้ ไม่ใช้อารมณ์ในการพูด ต้องพูดอย่างผู้ใหญ่ที่พูดกับเด็กทั้งน้ำเสียงและเหตุผล ปกติแล้วผู้สูงวัยนั้นไม่เพียงแต่สังคมไทยเท่านั้น สังคมโดยทั่วๆ ไปก็ยกย่องให้เกียรติให้ความเคารพนับถืออยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีการพูดการจาที่น่าฟังใจเย็นรอบคอบในคำพูดและเต็มไปด้วยเหตุผลอีกด้วยแล้ว ผู้สูงวัยคนนั้นๆ ก็ยิ่งจะได้รับการยกย่องนับถือมากกว่าปกติด้วยซ้ำไป

            ก็น่าจะนำมาเป็นข้อคิดอีกอย่าง เพื่อยึดเป็นหลักปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความมีภาพลักษณ์ที่ดีของบรรดาผู้สูงวัยทั้งหลาย เพื่อบรรดาลูกหลานจะใช้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อไปในวันข้างหน้า มีคำนิยามถึงศักดิ์ศรีและความสง่างามของผู้สูงอายุในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์บอกไว้ดังนี้ “ศักดิ์ศรีของคนหนุ่ม คือกำลังของเขา แต่ความงามของคนแก่คือผมหงอกของเขา” (สุภาษิต 20:29)

โดย: อาจารย์อำนวย  เรืองชาญ

นักจัดรายการวิทยุ “เพื่อคุณกำลังใจ”

องค์การก้าวไปสู่ความสว่าง

Comments are closed.