“การให้ ชีวิตที่เลือกได้”

เราคงจะได้ยินอยู่เสมอว่า “ถ้าเราอยากจะได้สิ่งใด จงมอบสิ่งนั้นให้แก่ผู้อื่นก่อน แล้วเราก็จะได้สิ่งที่เราต้องการเพิ่มมากขึ้นด้วย”

            นั่นก็หมายความว่า เราให้ไปเพียงแค่หนึ่งแต่สิ่งที่จะได้รับกลับมากกว่าเดิมหลายเท่า ยกตัวอย่างเช่น เมื่อชาวนาปลูกข้าวเขาต้องการผลผลิตมากขึ้น เขาต้องให้ผลผลิตนั้นกลับคืนให้ผืนแผ่นดินมากขึ้น แล้วเขาจะได้รับผลเพิ่มกลับมาอีกหลายเท่าด้วยเช่นกัน หรือเมื่อคุณต้องการรอยยิ้มจากคนอื่น คุณก็ต้องมอบรอยยิ้มให้กับคนอื่นก่อน หรือเมื่อคุณต้องการความรักจากคนอื่น คุณก็ต้องมอบความรักให้คนอื่นก่อนเช่นกัน และเมื่อคุณช่วยเหลือคนอื่น เขาก็จะช่วยเหลือคุณเป็นการตอบแทนเช่นกัน ขณะเดียวกันมีคนพูดว่า “เขาได้ให้มาตลอดชีวิต แต่ไม่เห็นจะได้รับอะไรตอบแทนเลย” คนที่พูดอย่างนี้ส่วนมากมักจะเป็นคนที่ให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทน เมื่อการให้ของเขาไม่ได้รับอะไรตอบแทนกลับคืนเขาก็จะไม่ให้อะไรแก่ใคร เขาจะให้ก็ต่อเมื่อเขาจะได้ผลตอบแทนจากการให้ของเขาเท่านั้น

            ตามหลักของการให้จากพระวจนะธรรมคัมภีร์ได้บอกไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า “จงให้โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน” ซึ่งก็หมายความว่าเราต้องให้ด้วยใจรัก รักที่จะให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น และก็เป็นการให้ในสิ่งดีๆ ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะได้อะไรตอบแทนหรือไม่

            วันนี้และยุคนี้เป็นเวลาเหมาะและมีความจำเป็นที่เราจะต้องสร้างธรรมชาติของ “การให้” เพื่อให้เกิดขึ้นอันจะทำให้การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขยิ่งขึ้น เป็นการให้ด้วยใจรักให้ด้วยใจและให้ในสิ่งที่เรามีอยู่ หากเราทำได้ดังนี้โลกทั้งโลกก็จะเต็มไปด้วยความสงบสุข สังคมทั่วๆ ไปก็จะเต็มไปด้วยความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อที่เกิดจากใจรักต่อกันและกัน

            เชื่อไหมครับว่า สังคมที่เราอยู่ร่วมกันทุกวันนี้ ต้องใช้ชีวิตอย่างคนที่มีความเข้มแข็ง ใครอ่อนแอแพ้ลูกเดียวเขาว่ากันอย่างนั้น ก็คงเหมือนที่ว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” คนที่แข็งแรงกว่าก็ย่อมจะเอาชนะคนที่อ่อนแอกว่าเสมอ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่แข็งแรงนั้นจะมีสติปัญญาความสามารถมากกว่าคนที่อ่อนแอ แต่ที่เขาเอาชนะได้ก็เพราะใช้ความแข็งแรงมาช่วยอย่างผิดๆ ไร้ความยุติธรรม ไร้ความเมตตา โดยไม่ละอายต่อบาปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ถ้าแก้ปัญหาในจุดนี้ได้สังคมก็จะกลับคืนสู่ความสงบสุขอีกครั้ง ตรงจุดนี้เราแก้ได้ถ้าเราจะเลือกเพราะเราเลือกได้ แต่ที่ไม่เลือกก็เพราะมันขัดประโยชน์ส่วนตนต่างหาก ที่ทำให้เราไม่เลือก “ที่จะมีชีวิตแห่งการให้มากกว่าที่จะรับเพียงอย่างเดียว”

            สรุปแล้วปัญหามันขึ้นอยู่ที่ตรงนี้เอง เมื่อเราเลือกอย่างนี้สังคมโลกจึงต้องเป็น “สังคมแห่งการรับ” มากกว่าที่จะเป็น “สังคมแห่งการให้” เราจึงต้องเชื่อฟังพระวจะนะธรรมที่ว่า “จงให้เขา และท่านจะได้รับด้วย และในตักของท่านจะได้รับตวงด้วยทะนานถ้วนยัดสั่นแน่นพูนล้นใส่ให้  เพราะว่าท่านจะตวงให้เขาด้วยทะนานอันใด พระเจ้าจะได้ทรงตวงให้ท่านด้วยทะนานอันนั้น” (ลูกา 6:38)

โดย : อาจารย์อำนวย  เรืองชาญ

นักจัดรายการวิทยุ “เพื่อคุณกำลังใจ”

องค์การก้าวไปสู่ความสว่าง

Comments are closed.